1. เงื่อนไขการให้บริการ
► ให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อประกอบการดำเนินคดี
2. ขั้นตอนการให้บริการ
3. ตัวอย่างที่รับตรวจ
ตัวอย่างที่มีลักษณะภายนอกคล้ายกับยาแผนปัจจุบัน และ/หรือ ต้องสงสัยว่ามีส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
4. ขั้นตอนการส่งตัวอย่าง
4.1 จำนวนตัวอย่าง
4.1.1 กรณีตัวอย่างมีจำนวนมาก ให้ทำการสุ่มตัวอย่าง ดังนี้
ตัวอย่างที่มีรุ่นการผลิต (Lot) เดียวกัน แต่มีจำนวนหลายหน่วย เช่น หลายขวด หรือหลายซอง หรือหลายถุง หรือหลายแผง หรือหลายกล่อง ฯลฯ ให้ทำการสุ่มดังนี้
► ตัวอย่างที่เป็นเม็ด/แคปซูล ให้สุ่มตัวอย่างที่มีรุ่นการผลิตเดียวกัน (อยู่ในภาชนะเดิม) จำนวน 1 หน่วย (เช่น 1 ขวด หรือ 1 กล่อง หรือ 1 แผง เป็นต้น) โดยมีจำนวนยาหน่วยละไม่น้อยกว่า 10 เม็ด/แคปซูล ถ้ามีน้อยกว่า 10 เม็ด/แคปซูล ให้สุ่มเพิ่มอีกทีละ 1 หน่วย จนได้ยาไม่น้อยกว่า 10 เม็ด/แคปซูล
► ตัวอย่างที่เป็นของเหลว ให้สุ่มตัวอย่างที่มีรุ่นการผลิตเดียวกัน (อยู่ในภาชนะเดิม) จำนวน 1 หน่วย (เช่น 1 ขวด หรือ 1 vial หรือ 1 ampoule) โดยมีจำนวนของเหลวหน่วยละไม่น้อยกว่า 20 มิลลิลิตร ถ้ามีน้อยกว่า 20 มิลลิลิตร ให้สุ่มเพิ่มอีกทีละ 1 หน่วย จนได้ของเหลวไม่น้อยกว่า 20 มิลลิลิตร
► ตัวอย่างที่เป็นครีม/เจล/ขี้ผึ้ง/ผง ให้สุ่มตัวอย่างที่มีรุ่นการผลิตเดียวกัน (อยู่ในภาชนะเดิม) จำนวน 1 หน่วย (เช่น 1 หลอด หรือ 1 ซอง หรือ 1 กระปุก) โดยมีครีม/เจล/ขี้ผึ้งไม่น้อยกว่า 10 กรัม ถ้ามีน้อยกว่า 10 กรัม ให้สุ่มเพิ่มอีกทีละ 1 หน่วย จนได้ครีม/เจล/ขี้ผึ้ง/ผง ไม่น้อยกว่า 10 กรัม
4.1.2 กรณีตัวอย่างมีจำนวนน้อย
กรณีที่ตัวอย่างมีจำนวนน้อยกว่าที่ระบุในหัวข้อ 4.1.1 ให้ทำการสุ่มตัวอย่างเท่าที่มี
4.2 การบรรจุหีบห่อ
► ตัวอย่างที่สุ่มแล้วต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ เช่น ซองหรือกล่อง แล้วปิดผนึกและลงลายเซ็นกำกับ [ตัวอย่างการปิดผนึกยาคดี]
► ตัวอย่างที่แตกหักง่ายให้ห่อหุ้มด้วยวัสดุกันกระแทก เพื่อป้องกันการแตกหักก่อนบรรจุในบรรจุภัณฑ์
4.3 เอกสารประกอบการส่งตัวอย่าง
4.3.1 หนังสือนำส่งจากหน่วยงานราชการ ฉบับจริง 1 ฉบับ และฉบับสำเนา 1 ฉบับ โดยระบุรายละเอียด ดังนี้
► เรียน ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด
► วันที่เกิดเหตุ เลขที่คดี เลขที่ยึดทรัพย์ ชื่อผู้ต้องหา ชื่อพนักงานสอบสวนของคดีนี้
► พฤติการณ์การก่อคดี การอ้างสรรพคุณ การโฆษณา คำสารภาพ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดขอบเขตการวิเคราะห์
► ให้รายละเอียดตัวอย่าง (ต้องบรรยายให้ตรงกับตัวอย่างที่ส่งมาทุกประการ เช่น ชื่อ/ลักษณะตัวอย่าง และจำนวนตัวอย่าง)
►วัตถุประสงค์ของการส่งตรวจ เช่น เพื่อตรวจพิสูจน์ว่าของกลางดังกล่าวเป็นยาแผนปัจจุบันตาม พรบ.ยา หรือไม่ อย่างไร, เพื่อตรวจพิสูจน์ว่าของกลางดังกล่าวมีส่วนผสมของตัวยา........... หรือไม่ อย่างไร
4.3.2 การแสดงตนของผู้ส่งตรวจ
► เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งต้องแสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ
► ในกรณีที่อยู่ระหว่างการต่ออายุบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ กำลังทำบัตรใหม่ หรือ บัตรหาย ต้องใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด
4.3 การส่งตัวอย่าง
สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาคาร 4 ชั้น 1 เวลา 8.30 - 15.30 น. เว้นวันหยุดราชการ
5. การปฏิเสธการรับตัวอย่าง
► ตัวอย่างหมดอายุ หรือมีอายุเหลือน้อยกว่า 6 เดือน
► จำนวนตัวอย่างไม่เพียงพอ
► ตัวอย่างมีสภาพไม่สมบูรณ์ เช่น แตก หัก ฯลฯ
► การส่งตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ตามทะเบียนยา แต่ไม่ได้ส่งเอกสารวิธีวิเคราะห์
► ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาหม่อง ยาล้างแผล น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ล้างแผล ยาธาตุ ฯลฯ
► ยาต้านมะเร็ง ยาเคมีบำบัด
► Biological product บางชนิด เช่น Hyaluronidase
► ตัวอย่างที่ไม่ใช่ยา เช่น ซิลิโคน เครื่องชั่ง เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา สายน้ำเกลือ สำลีผ้าพันแผล
► ตัวอย่างที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร (ให้ส่งตรวจที่ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร)
► ตัวอย่างที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง (ให้ส่งตรวจที่ สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย)
► ลักษณะตัวอย่างต้องอยู่ในสภาพที่เป็นปกติ เช่น เม็ดหรือแคปซูลต้องไม่เปียกชื้นหรือแตกหัก ของเหลวต้องไม่ตกตะกอนหรือจับตัวแข็ง บรรจุภัณฑ์ไม่แตกหัก
6. ระยะเวลาการให้บริการ
► 20 วันทำการ
7. อัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์
► อัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์และให้บริการ อ้างอิงจาก ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนพิเศษ 130ง ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 [download]
► อัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์และให้บริการ (ฉบับที่ 2) อ้างอิงจาก ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 137 ตอนพิเศษ 98ง ลงวันที่ 28 เมษายน 2563 [download]
8. การรับผลตรวจวิเคราะห์
ผู้รับบริการสามารถรับผลการตรวจวิเคราะห์ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่
► ทางไปรษณีย์
► รับด้วยตนเอง ที่กองสนับสนุนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาคาร 1 ชั้น 1 เวลา 8.30 - 15.30 น. เว้นวันหยุดราชการ โดยต้องนำหลักฐานมาแสดงในวันรับผล ดังนี้
9. การให้บริการอื่นๆ เกี่ยวกับรายงานผลวิเคราะห์
9.1 การขอแก้ไขรายงาน
ผู้รับบริการทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด พร้อมแนบหลักฐานเอกสารที่ต้องการเปลี่ยน และใบรายงานผลการวิเคราะห์ฉบับจริง โดยผู้รับบริการต้องเสียค่าธรรมเนียมการออกรายงานใหม่ตามอัตราที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด
(หมายเหตุ ให้บริการเฉพาะหน่วยงานของผู้ส่งตัวอย่างเท่านั้น)
9.2 การขอสำเนาใบรายงานผลการวิเคราะห์
ผู้รับบริการทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด พร้อมแนบหลักฐานสำเนาเอกสารใบรายงานผลการวิเคราะห์ หรือแจ้งเลขที่รายงาน/ เลขที่ตัวอย่าง เพื่อให้สามารถสืบค้นได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว โดยผู้รับบริการต้องเสียค่าธรรมเนียม 300 บาท
(หมายเหตุ ให้บริการเฉพาะหน่วยงานของผู้ส่งตัวอย่างเท่านั้น)
9.3 การแปลรายงานผลวิเคราะห์ฉบับภาษาอังกฤษ
ผู้รับบริการทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด แจ้งวัตถุประสงค์การขอใช้งานบริการที่ต้องการ พร้อมแจ้งเลขที่รายงานและเลขที่ตัวอย่าง โดยผู้รับบริการต้องเสียค่าธรรมเนียม 300 บาท
(หมายเหตุ ให้บริการเฉพาะหน่วยงานของผู้ส่งตัวอย่างเท่านั้น)