เอกสารเผยแพร่

คุณภาพยาต้านจุลชีพในประเทศไทย
  • 4.12.2017
  • 2,829
คุณภาพยาต้านจุลชีพในประเทศไทย
เจ้าของ/ผู้ผลิต เจ้าของ/ผู้ผลิต
จันทนา พัฒนเภสัช, มาศวลัย ลิขิตธนเศรษฐ์, โสมขจี หงษ์ทอง, สุรัชนี เศวตศิลา, สมศักดิ์ สุนทรพาณิชย์
ปีที่ผลิต ปีที่ผลิต
2560
จำนวนหน้า จำนวนหน้า
1 หน้า
รายละเอียดโดยย่อ

ปัจจุบัน สถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้การรักษาโรคติดเชื้อไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น หรือใช้เวลาในการรักษาตัวนานขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้นตามไปด้วย งานวิจัยหลายฉบับรายงานว่ายาต้านจุลชีพที่ไม่เข้ามาตรฐานเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาต้านจุลชีพจากโครงการประกันคุณภาพยาที่ดำเนินการตรวจวิเคราะห์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2559

ตัวอย่างยาต้านจุลชีพที่วิเคราะห์มีจำนวน 1,351 ตัวอย่าง พบยาไม่เข้ามาตรฐาน 59 ตัวอย่าง (ร้อยละ 4.4) เป็นยาที่ผลิตในประเทศ 51 ตัวอย่าง และเป็นยานำเข้า 8 ตัวอย่าง อย่างไรก็ดี ตัวอย่างที่ไม่เข้ามาตรฐานลดลงจากร้อยละ 6.5 ในปี พ.ศ. 2555 เป็นร้อยละ 1.4 ในปี พ.ศ. 2559 เมื่อพิจารณาตามกลุ่มยาพบว่ากลุ่มยาถ่ายพยาธิ (anthelmintics) มีสัดส่วนตัวอย่างไม่เข้ามาตรฐานมากที่สุด (10 จาก 44 ตัวอย่างหรือร้อยละ 22.7) รองลงมาคือกลุ่มยาต้านไวรัส (antiviral drugs) 7 จาก 63 ตัวอย่างหรือร้อยละ 11.1 และกลุ่มยาสูตรผสมสารต้านเอนไซม์เบตาแลคทาเมส (beta-lactamase inhibitor combinations) 12 จาก 152 ตัวอย่างหรือร้อยละ 7.9 เมื่อพิจารณาตามรูปแบบยาพบว่ายารับประทานรูปแบบของเหลวเช่น ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนตะกอน ยาแห้งชนิดผสมก่อนใช้ พบตัวอย่างไม่เข้ามาตรฐาน 17 จาก 132 ตัวอย่าง (ร้อยละ 12.9) หัวข้อทดสอบที่ไม่ผ่านมาตรฐานคือความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณตัวยาสำคัญ ส่วนยารับประทานรูปแบบของแข็ง เช่น ยาเม็ด แคปซูล พบตัวอย่างไม่เข้ามาตรฐาน 39 จาก 807 ตัวอย่าง (ร้อยละ 4.8) หัวข้อทดสอบที่ไม่ผ่านมาตรฐานคือการละลาย ความสม่ำเสมอของตัวยา และปริมาณน้ำ

ยาต้านจุลชีพที่มีใช้ในโรงพยาบาลภาครัฐส่วนใหญ่มีคุณภาพดี ถึงกระนั้นก็ตามการปรับปรุงคุณภาพยาเฉพาะกลุ่มที่พบปัญหาเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่บุคลากรทางการแพทย์ในการใช้ยาต้านจุลชีพที่ผลิตในประเทศ ช่วยประหยัดงบประมาณ และลดปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทย